กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่สำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่รองรับด้วยเกลือหิน จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร
วันที่ลงข่าว : 30 มิถุนายน 2568
| จำนวนผู้อ่าน :
141 คน
| แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 30 มิถุนายน 2568
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อประกอบอาชีพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมทรัพยากรธรณี ประสานความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยา ศึกษาในพื้นที่น้ำบาดาลเสี่ยงเค็มเพื่อหาน้ำจืดให้พี่น้องประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการศึกษาสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่รองรับด้วยเกลือหิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการบริหารจัดการน้ำบาดาล ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า แบบ 2 มิติ และสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าชั่วขณะ (WalkTEM) โดยการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าแบบ 2 มิติ จำนวน 31 แนว เพื่อศึกษาการกระจายตัวของหินเกลือ และความต่อเนื่องของชั้นตะกอนและชั้นหิน ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
จากผลการสำรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าแบบ 2 มิติ ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี พบว่า มีค่าความต้านทานไฟฟ้าระหว่าง 0.05 - 5 โอห์ม-เมตร คาดว่าเป็นชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น หรือชั้นน้ำเค็มที่แทรกขึ้นมาระหว่างรอยแตกของชั้นหิน และค่าความต้านทานไฟฟ้าระหว่าง 5 - 30 โอห์ม-เมตร คาดว่าเป็นชั้นตะกอน หรือศิลาแลง ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ศึกษา
เผยแพร่โดย : กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
คลิ๊กเพื่อ Print หน้านี้
URL ลิงค์ : https://gdf.dgr.go.th/readnews.php?iddata=575
ดูผ่านมือถือด้วยการแสกน QR Code :