หมวดหมู่
คลังความรู้ การเจาะ / ใช้น้ำบาดาล / การประกอบกิจการน้ำบาดาล
น้ำบาดาล เจาะ/ใช้ ต้องขอใบอนุญาต
น้ำบาดาล เจาะ/ใช้
ต้องขอใบอนุญาต
-----------------------------
น้ำบาดาลในประเทศไทย
น้ำบาดาลในประเทศไทย มีปริมาณกักเก็บทั้งหมดประมาณ 1.0 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 45,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์น้ำบาดาลรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แบ่งออกเป็น
1. บ่อราชการ ประมาณ 100,000 บ่อ
2. บ่อเอกชน ประมาณ 60,000 บ่อ
สำหรับการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เราสามารถทำการสูบจากบ่อน้ำบาดาล ลักษณะจะเป็นปล่องขุดหรือเจาะลงไปถึงชั้นน้ำบาดาล แล้วกรุผนังด้วยท่อเพื่อเอาน้ำบาดาลขึ้นมา บ่อน้ำบาดาลที่สูบทั่วไปจะนำมาใช้ประโยชน์ที่ต่างกันออกไป เช่น
1. บ่อน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค
2. บ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร
3. บ่อน้ำบาดาลเพื่อการประกอบธุรกิจ และอุตสาหกรรม
ขั้นตอนการขออนุญาตเจาะ/ใช้ น้ำบาดาล
1. ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน ณ ที่ทำการของพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ในเขตน้ำบาดาลนั้น
2. พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ออกใบรับคำขอ ดำเนินการตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ ภายใน 15 วัน หากเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบเพื่อยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม
3. เอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว เสนอผู้มีอำนาจดำเนินการพิจารณาออกใบอนุญาต/ไม่ออกใบอนุญาต
กรณีได้รับอนุญาต แจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตให้มารับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียม
กรณีไม่ได้รับอนุญาต แจ้งเหตุผลพร้อมทั้งสิทธิอุทธรณ์ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ
หมายเหตุ : กรณีการขอต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทน การขอโอน และการขอแก้ไขใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ณ ที่ทำการของพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ เพื่อพิจารณาคำขอต่อไป
สถานที่ติดต่อขอรับใบอนุญาต
1. กรุงเทพมหานคร ติดต่อที่ สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
2. จังหวัดขอนแก่น, เชียงใหม่, นครราชสีมา ติดต่อที่ อบต./เทศบาล ที่จะขอเจาะ/ใช้น้ำบาดาล
3. พื้นที่อื่น ๆ ติดต่อที่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเจาะบ่อน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล
คิดตามขนาดบ่อ ดังนี้
1. บ่อวงและบ่อน้ำบาดาลขนาด 8 นิ้วขึ้นไป เก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 1,000 บาท
2. บ่อน้ำบาดาลขนาด 4-6 นิ้ว เก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 500 บาท
3. บ่อน้ำบาดาลขนาด 2-3 นิ้ว เก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 100 บาท
ข้อควรรู้ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล
ใบอนุญาต
1. แสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจน
2. หากใบอนุญาตชำรุด หรือสูญหาย จะต้องแจ้งต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ภายใน 30 วัน เพื่อออกใบแทนใบอนุญาต
3. การขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต (แบบ นบ.7) พร้อมเอกสารหลักฐาน ก่อนใบอนุญาตหมดอายุ
4. หากไม่ได้รับใบอนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล/ใช้น้ำบาดาล หรือให้ต่ออายุใบอนุญาตผู้ขอรับใบอนุญาต หรือ ผู้ขอต่อใบอนุญาตมีสิทธิ์อุทธรณ์เป็นหนังสือ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
เงื่อนไขการใช้น้ำบาดาล
1. ใช้น้ำบาดาลตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
2. ต้องติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำบาดาลประจำบ่อน้ำบาดาล
3. ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ตามที่กำหนด
4. จดรายงานการใช้น้ำบาดาล แล้วส่งให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ภายใน
วันที่ 7 ของเดือนถัดไป
5. หากเครื่องวัดปริมาณน้ำชำรุด เสียหาย ให้ทำหนังสือแจ้งพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ แล้วรีบซ่อมหรือเปลี่ยนภายใน 15 วัน
6. ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องวัดปริมาณน้ำ พร้อมทั้งผนึกตราสัญลักษณ์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลติดไว้กับเครื่องวัดปริมาณน้ำ
7. หากยกเลิกการใช้น้ำบาดาล หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ต้องแจ้งยกเลิก และอุดกลบบ่อน้ำบาดาล ภายใน 30 วัน
หลักเกณฑ์การอนุญาตเจาะน้ำบาดาล เเละการอนุญาตใช้น้ำบาดาล
1. ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเเละปริมณฑล (พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี เเละนครปฐม) รวม 7 จังหวัด ซึ่งถูกประกาศให้เป็นเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล หากการประปานครหลวง (กปน.) หรือการประส่วนภูมิภาค (กปภ.) สามารถให้บริการได้เเล้ว จะไม่อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลเเละใช้น้ำบาดาล ยกเว้นการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลเป็นวัตถุดิบ หรือในกระบวนการผลิตจะอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำประปาตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
2. ส่วนในเขตท้องที่จังหวัดอื่นๆ จะอนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลเเละใช้น้ำบาดาลได้ในพื้นที่ที่ขาดเเคลน แหล่งน้ำผิวดินหรือใช้ร่วมกับน้ำผิวดินตามความเหมาะสมเเละความจำเป็นตามประเภทหรือลักษณะการใช้น้ำในเเต่ละกิจกรรม ตามหลักการใช้น้ำร่วมกัน
แอบเจาะ ลักลอบใช้น้ำบาดาล ผิดกฎหมาย!!!
มีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
ที่มา : สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล