“พัชรวาท” ให้เร่งฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาล จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับผลกระทบกรณีทำนบดินชั่วคราวของการก่อสร้าง โครงการประตูระบายน้ำท่าถั่วเกิดการพังทลาย

วันที่ลงข่าว : 21 พฤษภาคม 2567 | จำนวนผู้อ่าน : 275 คน | แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 21 พฤษภาคม 2567
พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งกำชับให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำ กรณี ทำนบดินชั่วคราวของการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำท่าถั่วเกิดการพังทลาย พร้อมเร่งให้ฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
 
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ติดตามผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล กรณี ทำนบดินชั่วคราวของการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอท่าโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดการพังทลาย ทำให้น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา ส่งผลกระทบต่อ สัตว์น้ำ พืช รวมถึงน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มอบหมายให้สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกองมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาล และสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 (ระยอง) ศึกษา สำรวจ และประเมินผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 อำเภอ ประกอบด้วย บางส่วนของอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะเร่งฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้โครงการศึกษา สำรวจ เพื่อประเมินผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลจากสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำ กรณีทำนบดินชั่วคราวของการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำท่าถั่วเกิดการพังทลาย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
 
ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลอยู่ระหว่างสำรวจสถานภาพบ่อน้ำบาดาล คุณภาพน้ำบาดาล และสถานการณ์การใช้น้ำบาดาลในปัจจุบันที่อาจได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงที่ไหลเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขาต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมพบปะพูดคุยกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดกรณีทำนบดินชั่วคราวของการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำท่าถั่วเกิดการพังทลาย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาภูมิภาคในการอุปโภค-บริโภค มีเพียงบางส่วนใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำสำรอง ปัจจุบันยังไม่พบว่าส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค ประชาชนยังมีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพออยู่
 
สำหรับการตรวจวัดคุณภาพน้ำบาดาลเบื้องต้นในพื้นที่อำเภอบ้านโพธิ์ ทำการตรวจวัดค่าการน้ำไฟฟ้า (EC) และคลอไรด์ (Cl) พบค่าการน้ำไฟฟ้า (EC) อยู่ในช่วง 1,700 - 5,600 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (µS/cm) และคลอไรด์ (Cl) อยู่ในช่วง 420 - 2,100 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) 
 
ส่วนพื้นที่ตำบลบางกะไห และตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจวัดคุณภาพน้ำบาดาลเบื้องต้นในพื้นที่ พบค่าการน้ำไฟฟ้า (EC) อยู่ในช่วง 1,280 - 3,520 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (µS/cm) และคลอไรด์ (Cl) อยู่ในช่วง 240 - 900 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) เกณฑ์กำหนดเหมาะสม 250 มิลลิกรัมต่อลิตร 
 
เกณฑ์อนุโลมสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อลิตร เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ บ่งชี้ว่าน้ำบาดาลบริเวณดังกล่าวมีคุณภาพกร่อย-เค็ม ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริโภค สำหรับในบ่อน้ำบาดาลที่มีค่าการนำไฟฟ้าไม่เกิน 1,850 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ยังสามารถนำมาใช้ในการอุปโภคได้
 
ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการสำรวจดังกล่าว จะนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบาดาลแล้วนำไปวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลในห้องปฏิบัติการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อประเมินผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบาดาล และกำหนดแนวทางการฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับผลกระทบ โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 (ระยอง) จะเร่งเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30 บ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่โดยเร็ว

ประมวลภาพข่าวประชาสัมพันธ์


เผยแพร่โดย : กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
คลิ๊กเพื่อ Print หน้านี้
URL ลิงค์ : https://gdf.dgr.go.th/readnews.php?iddata=433

ดูผ่านมือถือด้วยการแสกน QR Code :

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงาน ก.พ.
กรมบัญชีกลาง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประะเทศไทย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ