"วราวุธ" เปิดการประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ยกระดับองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมยั่งยืน
วันที่ 22 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ น้ำบาดาล: กุญแจสู่ความมั่นคงและยั่งยืน" (1st THAILAND INTERNATIONAL GROUNDWATER SYMPOSIUM: KEY TO WATER SECURITY AND SUSTAINABILITY) ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2565 ที่กรุงเทพมหานคร และศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 เพื่อร่วมหารือ แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ผลการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับปัญหาน้ำบาดาล และยกระดับความสำคัญของน้ำบาดาลในเวทีระดับนานาชาติ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน
สำหรับการประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ 1st THAILAND INTERNATIONAL GROUNDWATER SYMPOSIUM : KEY TO WATER SECURITY AND SUSTAINABILITY นับเป็นการจัดงานประชุมด้านน้ำบาดาลครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 23 ประเทศ อาทิ
• Mr. Péter Kovács Head of River Basin Management and Water Protection Department, Ministry of Interior, Hungary
• Dr. Peter Dillion Head, CSIRO Australian Research Teams
• Prof. Dr. Makoto Taniguchi Deputy Director-General, Research Institute for Humanity and Nature, Japan
• Prof. Dr. Kyoung-Woong Kim Director, International Environmental Research Institute (IERI), Gwangju Institute of Science and Technology
• Dr. Jim LaMoreaux Chairman, PELA GeoEnvironmental/ IAH US National Chapter
ถือเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญอีกวาระหนึ่งของผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำบาดาล นอกจากนี้ ยังมีคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเสนอผลงานวิชาการ และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 350 คน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพิธีเปิดงานว่า ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย มีความยิ่งดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านงานการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งนี้ และเชื่อว่าทุกท่านได้ตระหนักอยู่แล้วว่า น้ำมีความสำคัญต่อชีวิตเรา แม้น้ำเป็นทรัพยากรหมุนเวียนก็ตาม แต่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำตามมา
จากข้อมูลเชิงเทคนิค จะเห็นว่าน้ำใต้ดินมีอยู่มากมายทั่วภูมิภาคต่างๆของโลก และมีปริมาณมากกว่าน้ำผิวดินถึง 30 เท่า หากเราได้พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลให้สะอาดและพร้อมเป็นแหล่งกระจายน้ำเพื่อนำไปใช้ในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค การใช้ในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
การประชุมวิชาการน้ำบาดาลครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราทุกคนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ในการจัดการน้ำบาดาล ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานร่วมกัน เพื่อการใช้อย่างชาญฉลาดและการอนุรักษ์น้ำบาดาลต่อไป รวมไปถึงการสร้างมิติมุมมองใหม่ทำให้น้ำบาดาลที่อาจเป็นทรัพยากรที่มองไม่เห็นมามองเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนมากขึ้น นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลและเห็นประโยชน์ในการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น จึงได้จัดการประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 1 หัวข้อ น้ำบาดาล: กุญแจสู่ความมั่นคงและยั่งยืนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศไทย ผ่านการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายทางวิชาการของประเทศไทย เครือข่ายหน่วยงานด้านน้ำบาดาลอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันในการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างบูรณาการ สามารถยกระดับการบริหารจัดการ น้ำบาดาลสู่มาตรฐานในระดับสากลต่อไป
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ประกอบด้วย
1. การประชุมสัมมนาวิชาการ Key to Water Security and Sustainability โดยการนำเสนอผลงานในรูปแบบบรรยาย (Oral Presentation) และรูปแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) วันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
2. วันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2565 ณ จังหวัดกาญจนบุรี ศึกษาดูงานหัวข้อ Groundwater: Key to water security and sustainability
ผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://thaigroundwater-2022.org/
เผยแพร่โดย : กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
คลิ๊กเพื่อ Print หน้านี้
ดูผ่านมือถือด้วยการแสกน QR Code :