คลังความรู้ Infographic

โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ชุดที่ 2

วันที่ : 18 พฤศจิกายน 2564 | จำนวนผู้อ่าน : 393 คน

 

9. โครงการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและการส่งน้ำระยะไกลขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำวิกฤตภัยแล้ง ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
ดำเนินการศึกษา วิจัย พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและระบบการส่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการขาดแคลนน้ำของตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและได้เปิดให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2564 สามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลศรีสมเด็จกว่า 1,400 ครัวเรือน หรือกว่า 6,500 คน ได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ต้นแบบในการออกแบบและก่อสร้างระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลขนาดใหญ่จากพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูงไปสู่พื้นที่โดยรอบ สำหรับเป็นน้ำต้นทุนเพื่อเสริมความมั่นคงและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในตำบลศรีสมเด็จอย่างยั่งยืน

 

10. โครงการศึกษานำร่องรูปแบบระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำในพื้นที่ขอบแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง
ศึกษาออกแบบระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกล พร้อมติดตั้งระบบตรวจวัดและแสดงผลอัตโนมัติ เพื่อติดตามปริมาณการสูบน้ำบาดาลและระดับน้ำบาดาล รวมทั้งศึกษาแนวทางการบริหารจัดการระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกล ภายใต้บริบทที่หลากหลายและแตกต่างจากเดิม เพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง และตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 130 ตารางกิโลเมตร ประชาชนจำนวน 25,000 คน 7,500 ครัวเรือน จะได้รับประโยชน์ในการจัดหาแหล่งน้ำครั้งนี้

 

11. โครงการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบส่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
 ศึกษาและสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง และออกแบบระบบประปาบาดาลให้สามารถกระจายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำได้อย่างทั่วและเพียงพอ โดยออกแบบเฉพาะสำหรับการส่งน้ำระยะไกลให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสนามไขย (ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร) ทั้งหมด 8 หมู่บ้าน 1,400 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 5,000 คน มีถังเก็บน้ำสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ (water security) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่เริ่มนำมาใช้กับระบบประปาบาดาลเป็นครั้งแรก

12. โครงการศึกษา สำรวจและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ดำเนินการสำรวจ และประเมินศักยภาพน้ำบาดาลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษศาสตร์และราคาที่แท้จริงของการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงด้านปัจจัยการผลิตในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
 
 
13. โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับพื้นดังกล่าวมีศักยภาพด้านน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ได้ และสามารถส่งไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำได้ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ
   ระยะที่ 1 ดำเนินการศึกษา สำรวจ และพัฒนาน้ำบาดาลระดับลึก ในสภาพพื้นที่หินแปรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดในระยะที่ 2 ต่อไป
   ระยะที่ 2 ได้ดำเนินงานก่อสร้างระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ให้เหมาะสมกับสภาพอุทกธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองฝ้าย เพื่อทดสอบระบบการใช้งาน ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่จะมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้งตำบลหนองฝ้าย จำนวน 9 หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรกรรม 3,000 ไร่ ประชากรกว่า 5,786 คน หรือประมาณ 1,856 ครัวเรือน ได้รับน้ำสะอาดจากระบบประปาอย่างทั่วถึง
อนึ่ง โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็น 1 ใน 15 โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง
 
 
14. โครงการศึกษา สำรวจ และรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึก ในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
เพื่อสำรวจ ศึกษาลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน ที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาลในหินแข็งระดับลึก นอกจากนี้ยังนำการวิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีไปออกแบบและกำหนดแนวทางการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินโครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
   ระยะที่ 1 ดำเนินงานแล้วในพื้นที่เป้าหมาย 2 พื้นที่ คือ บ้านพยอมงาม หมู่ที่ 12 ตำบลห้วยกระเจา มีประชากรที่ได้รับประโยชน์ 2,369 คน รวม 709 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรที่ได้ประโยชน์ 3,000 ไร่ มีปริมาณน้ำให้ใช้ประโยชน์รวม 700,800 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และบ้านทุ่งคูณ หมู่ที่ 19 ตำบลห้วยกระเจา จะมีประชากรที่ได้รับประโยชน์ 4,989 คน รวม 2,015 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรที่ได้ประโยชน์ 3,000 ไร่ มีปริมาณน้ำให้ใช้ประโยชน์รวม 1,051,200 ลูกบาศก์เมตรต่อปี อีกทั้งยังได้เกิดประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยว เช่น บ่อน้ำบาดาล ที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ 19 พบว่า เป็นน้ำที่มีความซ่าคล้ายโซดา มีแร่ธาตุสูง สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำแร่ดื่มได้   
   ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ตามรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพอุทกธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจาไม่น้อยกว่า 15 หมู่บ้าน ได้รับน้ำสะอาดจากระบบประปาอย่างทั่วถึง
 
 
15. โครงการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่
ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาน้ำบาดาล และออกแบบระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อความสมดุลระหว่างความต้องการและศักยภาพน้ำบาดาล ที่เหมาะสมกับการเกษตรแปลงใหญ่โดยมีพื้นที่สำรวจและศึกษาออกแบบรูปแบบการกระจายน้ำ จำนวน 60 แห่ง และพื้นที่พัฒนาบ่อน้ำบาดาล พร้อมก่อสร้างระบบกระจายน้ำ (นำร่อง) จำนวน 6 แห่ง ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการ คือ ต้นแบบการพัฒนาน้ำบาดาล และระบบกระจายน้ำเหมาะสมกับเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งเป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำบาดาลร่วมกับชุมชนในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ และนำข้อมูลไปต่อยอดหรือดำเนินการในโครงการพัฒนาน้ำบาดาลอื่น ที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
 
16. โครงการศึกษาสำรวจจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนนสายหลักทั่วประเทศ
ดำเนินการศึกษา สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลเหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก่อสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบจ่ายน้ำ เพื่อเป็นจุดจ่ายน้ำบาดาลบริการประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่สัญจรไปมาบนถนนสายหลักทั่วประเทศ เมื่อดำเนินเสร็จสิ้นแล้ว สามารถรองรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งประชาชนและผู้ที่เดินทางตามถนนสายหลักทั่วประเทศสามารถใช้บริการจุดจ่ายน้ำ จำนวน 24 แห่งทั่วประเทศ


กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงาน ก.พ.
กรมบัญชีกลาง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประะเทศไทย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ