หมวดหมู่
คลังความรู้ Infographic
โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ชุดที่ 1
วันที่ :
18 พฤศจิกายน 2564
| จำนวนผู้อ่าน : 382 คน
1. โครงการศึกษาสำรวจธรณีวิทยา และอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูนวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ดำเนินการศึกษาสำรวจธรณีวิทยา พร้อมทั้งจัดทำแผนผังถ้ำและแบบจำลองทางกายภาพของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และพัฒนาวิธีการสำรวจถ้ำของทิศทางการไหลของชั้นน้ำบาดาลในโพรงด้วยเทคโนโลยีระบบคาสต์ (Karst) เพื่อนำมาประเมินศักยภาพน้ำบาดาลขั้นรายละเอียด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลและทรัพยากรถ้ำอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนนำข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ ไปใช้ในการบริหารจัดการถ้ำหลวงอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามวิถีชุมชนต่อไป
2. โครงการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) สำหรับการประกอบกิจการน้ำบาดาล
ดำเนินการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) สำหรับการประกอบกิจการน้ำบาดาล และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการน้ำบาดาล ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในรูปแบบของระบบต่างๆ เช่น
- ระบบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบการตรวจสอบบ่อน้ำบาดาล
- ระบบช่างเจาะน้ำบาดาล
- ระบบการชำระเงินค่าธรรมเนียม
- ระบบบริหารจัดการข้อมูล เป็นต้น
ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์นี้ถือเป็นระบบที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาล
3. โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและจัดการองค์ความรู้ของบุคลากรด้านน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ปีงบประมาณ พ.ศ.2563
ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลในหลักสูตรต่างๆ อาทิ การเจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล การสำรวจธรณีฟิสิกส์ ช่างเจาะน้ำบาดาล และวิศวกรหรือนักธรณีวิทยา เพื่อให้บุคลากรด้านน้ำบาดาลปฏิบัติงานได้อย่างมีศักยภาพและมีมาตรฐาน สามารถควบคุม กำกับ ดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน
4. โครงการสร้างความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาและการอนุรักษ์น้ำบาดาลแก่ภาคีเครือข่าย
เป็นโครงการที่เสริมสร้างความรู้ด้านการพัฒนาน้ำบาดาลให้กับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการฝึกอบรมสร้างความรู้ด้านการเจาะและพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถปฏิบัติงานพัฒนาน้ำบาดาลได้มาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ตลอดนจนสามารถควบคุมงานและตรวจการจ้างได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านความรู้ภาคประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำบาดาลการเติมน้ำลงสู่ใต้ดินและการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน และภาคประชาชนได้ร่วมเป็นเครือข่ายอาสารักษ์น้ำบาดาลอีกด้วย
5. โครงการประเมินขอบเขตการปนเปื้อนและแนวทางฟื้นฟูสารอันตรายในแหล่งน้ำบาดาล บริเวณตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี และตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
เป็นการศึกษารายละเอียด สถานการณ์ความรุนแรง และขอบเขตการปนเปื้อนโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำเสียและมลพิษทางกลิ่นจากโรงงาน ซึ่งพบว่าคุณภาพน้ำใต้ดินภายในโรงงานและพื้นที่โดยรอบมีปริมาณโลหะหนัก และสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ทั้งบริเวณภายในและภายนอกโรงงาน จึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาจากการปนเปื้อนน้ำบาดาล โดยให้ยุติหรือลดปริมาณการแพร่กระจายของมลพิษในแหล่งน้ำใต้ดิน และประเมินค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดแนวทางฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่
6. โครงการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน
มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อรองรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จำนวน 38 จังหวัด ซึ่งดำเนินการในเขตรับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1-11 ทั่วประเทศ สำหรับผลที่ได้จากการสำรวจและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล จำนวน 279 แห่ง สามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบสำหรับการพัฒนาน้ำบาดาล ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพสำหรับการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล และการต่อยอดเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภคระดับชุมชน รวมทั้งเพื่อเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
7. โครงการศึกษาสำรวจเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลสำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่น้ำเค็ม จังหวัดนครราชสีมา (ระยะที่ 1)
ดำเนินการศึกษา สำรวจ ศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่น้ำเค็มของจังหวัดนครราชสีมา พร้อมออกแบบและก่อสร้างระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จำนวน 5 พื้นที่ ซึ่งปริมาณน้ำบาดาลที่สูบได้จะกำหนดเป็นบ่อผลิตไม่น้อยกว่า 10 ลบ.ม./ชม. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล แบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป
8. โครงการสำรวจพื้นที่ศักยภาพการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน พื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ
เป็นการศึกษาด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ สำหรับกำหนดพื้นที่การเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และนครพนม เพื่อให้เกิดแนวทางการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินตามรูปแบบ วิธีการที่เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถนำรูปแบบการศึกษานี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง อีกทั้ง ยังเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต