คลังความรู้ สาระน่ารู้เกี่ยวกับน้ำบาดาล

5 นวัตกรรมการพัฒนาน้ำบาดาลเสริมความมั่นคง

วันที่ : 19 เมษายน 2567 | จำนวนผู้อ่าน : 349 คน

      ประเทศไทยมีปริมาณน้ำต้นทุนของน้ำบาดาลอย่างมหาศาลกว่า 1.13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงไปเพิ่มเติมในชั้นน้ำบาดาลอีกกว่า 72,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดการนำน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจัดทำ 5 โครงการใหญ่ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งทั้ง 5 โครงการล้วนเป็นนวัตกรรมด้านการพัฒนาน้ำบาดาลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศ 

1. น้ำบาดาลขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ

     กรมทรัพยากรน้ำบาดาลศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ Riverbank Filtration - RBF นำน้ำบาดาลบริเวณใกล้แม่น้ำซึ่งมีปริมาณมากมาใช้ในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำต้นทุน เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าบ่อน้ำบาดาลปกติประมาณ 20 เท่า และน้ำมีคุณภาพดีเนื่องจากผ่านการกรองโดยธรรมชาติ สามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้และไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำผิวดิน ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ราชบุรี และสุพรรณบุรี มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 7,600 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 2,400 ไร่ และมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 4.52 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี


2. การส่งน้ำบาดาลระยะไกล

     การเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่มีปริมาณน้ำมาก ส่งผ่านระบบกระจายน้ำให้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่ขาดแคลน หรือน้ำเค็ม ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 3 แห่ง คือ

     1) ตำบลสนามไชย อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี มีประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้วกว่า 5,000 คน ปริมาณน้ำรวม 408,800 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

     2) ตำบลตลิ่งชัน ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง และตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 130 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 25,000 คน ปริมาณน้ำรวม 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

     3) ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับประโยชนกว่า 1,400 ครัวเรือน หรือกว่า 6,500 คน มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

    ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็มอีก 22 แห่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้กว่า 3.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีประชาชนได้รับประโยชน์ 13,200 คน 

3. จุดจ่ายน้ำริมทาง

     กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสร้างสถานีจ่ายน้ำบาดาลเพื่อให้บริการน้ำดื่มน้ำใช้ฟรีแก่ประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชน โดยดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว 32 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างอีก 43 แห่ง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า 19,800 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 7.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี


4. เกษตรแปลงใหญ่

     ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 - 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อเกษตรไปแล้วทั้งสิ้น 8,383 แห่ง ทั่วประเทศ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้ว 508,730 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 49,235 ครัวเรือน หรือ 246,175 คน และได้ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรกว่า 361 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีแผนดำเนินงานเพิ่มเติมอีก 591 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,974 แห่ง

     ในจำนวน 8,974 แห่ง เป็นการต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 126 แห่ง เพื่อบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร มีเกษตรกรได้รับประโยชน์มากกว่า 9,000 ราย และพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 57,800 ไร่ ได้ปริมาณน้ำรวมกว่า 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

5. การเติมน้ำใต้ดิน

     เป็นการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาล และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เพื่อช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาล โดยในปีงบประมาณ 2563 ดำเนินการไปแล้ว 530 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศอีกจำนวน 1,000 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2564 นี้

 

ข้อมูลและภาพ : กรมทรัพยากรน้ำบาดาล



กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงาน ก.พ.
สำนักนายกรัฐมนตรี
กรมบัญชีกลาง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำนักงานศาลยุติธรรม