กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล (Groundwater Development Fund)
อธิบดีกรมน้ำบาดาล เปิดโครงการสำรวจและประเมินศักยภาพระดับลึก จังหวัดภูเก็ต
วันที่ลงข่าว : 27 พฤษภาคม 2565
| จำนวนผู้อ่าน :
514 คน
| แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 27 พฤษภาคม 2565
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์ “โครงสำรวจและประเมินศักยภาพระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จังหวัดภูเก็ต” โดยมี นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ และนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการฯ ภายในงานมีการบรรยายเรื่อง “น้ำบาดาลจังหวัดภูเก็ต” และ “การประกอบกิจการน้ำบาดาล” จากวิทยากรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ ห้องประชุมดวงชนก โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
จากนั้น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคณะ เดินทางไปยังวัดป่าอร่ามรัตนาราม เพื่อติดตามการสูบทดสอบน้ำบาดาล และติดตามการเจาะบ่อน้ำบาดาล ความลึก 650 เมตร บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 อำเภอเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชากรในพื้นที่ดังกล่าว
อนึ่ง โครงการสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จังหวัดภูเก็ตได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อสำรวจธรณีฟิสิกส์ สำรวจธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา เจาะบ่อสำรวจ เจาะบ่อผลิต และเจาะสำรวจชั้นน้ำบาดาลระดับลึก โดยจะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลสรุปศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ปัจจุบันจากการดำเนินโครงการฯ ไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 โดยเจาะทดสอบไปแล้วทั้งสิ้น 45 บ่อ พัฒนาเป็นบ่อน้ำบาดาลปริมาณมากกว่า 5 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง จำนวนทั้งสิ้น 14 บ่อ พบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำบาดาลมากกว่า 10 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง พื้นที่ตำบลวิชิต อำเภอเมือง พื้นที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง และพื้นที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง และเมื่อทำการสูบทดสอบปริมาณน้ำพบว่า พื้นที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง ซึ่งมีปริมาณน้ำที่สามารถสูบได้สูงสุด 25 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการเจาะสำรวจแล้วเสร็จ จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล สรุปศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมทั้งออกแบบระบบสูบน้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำ เพื่อใช้สำหรับจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชาชนมีแหล่งน้ำบาดาลสำหรับอุปโภค-บริโภค มีแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่หมู่เกาะ และเป็นต้นแบบในการศึกษาแหล่งน้ำในพื้นที่หมู่เกาะอื่นๆ ที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ใกล้เคียงกันต่อไปในอนาคต
เผยแพร่โดย : กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
URL ลิงค์ : http://gdf.dgr.go.th/readnews.php?id=274